ประเภทของคลังสินค้าสามารถแบ่งได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1.การแบ่งตามลักษณะธุรกิจ/ความเป็นเจ้าของ
1.1 คลังสินค้าส่วนตัว (Private Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่บริษัทหรือองค์กรเป็นเจ้าของเอง สร้างขึ้นมาเพื่อเก็บและบริหารจัดการสินค้าของตนเองโดยเฉพาะเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ที่ต้องการควบคุมกระบวนการทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ และมีปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมาก
ข้อดี คือ มีอิสระในการออกแบบการจัดเก็บ, รักษาความปลอดภัยและควบคุมมาตรฐานได้ดี, สร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ
ข้อเสีย คือ ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการก่อสร้างและบำรุงรักษา
1.2 คลังสินค้าสาธารณะ (Public Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั่วไปเช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า โดยมีบริการครบวงจร เช่น การจัดเก็บ การขนส่ง การจัดการสินค้าคงคลัง เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางที่ต้องการความยืดหยุ่น และไม่ต้องการลงทุนสร้างคลังสินค้าเอง หรือธุรกิจที่มีความต้องการพื้นที่เก็บสินค้าแบบไม่ถาวร หรือมีฤดูกาลขายชัดเจน
ข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง, ปรับเปลี่ยนขนาดพื้นที่ได้ตามความต้องการ, มีบริการเสริมต่างๆ
ข้อเสีย คือ ไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานได้ทั้งหมด, อาจมีการใช้พื้นที่ร่วมกับผู้เช่ารายอื่น
2. การแบ่งตามลักษณะงาน/วัตถุประสงค์
2.1ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center – DC) ไม่ได้เน้นการเก็บรักษาสินค้าเป็นเวลานาน แต่เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับรับสินค้า คัดแยก และกระจายสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับธุรกิจค้าปลีกหรืออีคอมเมิร์ซที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้าบ่อย และต้องการเพิ่มความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า
2.2ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross-Docking Facility) ทำหน้าที่รวมสินค้าที่มาจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน แล้วส่งต่อออกไปยังปลายทางทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บในคลังนานๆ เพื่อลดระยะเวลาการจัดเก็บ
2.3คลังสินค้าในเครือ (Network Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่ใช้จัดเก็บ ตรวจสอบ และจัดส่งสินค้าให้กับเจ้าของสินค้าแบบครบวงจร โดยมักจะมีความสัมพันธ์กับบริษัทแม่หรือเครือข่ายธุรกิจเดียวกัน
2.4คลังสินค้าแบบบริหารจัดการ (Fulfillment Center) มีบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดเก็บ แพ็ค และจัดส่งสินค้า รวมถึงการจัดการคำสั่งซื้อ เหมาะสำหรับธุรกิจ E-Commerce
3. การแบ่งตามประเภทสินค้าที่เก็บ
3.1 คลังสินค้าทั่วไป (General Warehouse) ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้าหลากหลายชนิดที่ไม่ต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สินค้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนต่างๆ มีลักษณะเป็นอาคารปิด มีผนังครบ 4 ด้าน เพื่อป้องกันสินค้าจากสภาพอากาศและสัตว์รบกวน
3.2 คลังสินค้าของสด/คลังสินค้าเย็น (Cold Storage Warehouse/Refrigerated Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้า เหมาะสำหรับสินค้าที่อาจเสื่อมสภาพหรือคุณภาพได้ง่าย เช่น ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง อาหารทะเล เครื่องดื่ม ยา เวชภัณฑ์ สารเคมีบางชนิด
3.3 คลังสินค้าอันตราย (Hazardous Material Warehouse) ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้าที่มีความอันตราย เช่น สารเคมี วัตถุไวไฟ ซึ่งต้องมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษ และมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด
3.4 คลังสินค้าพิเศษ (Specialized Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อเก็บสินค้าเฉพาะทาง เช่น
3.4.1คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) สำหรับเก็บสินค้าที่นำเข้าก่อนเสียภาษีอากร ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมศุลกากร ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลื่อนการชำระภาษีนำเข้าได้
3.4.2คลังสินค้าอัตโนมัติ (Automated Warehouse) ใช้เทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ ระบบสายพานลำเลียง และระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) ในการจัดการ เพื่อเพิ่มความเร็ว ความแม่นยำ และลดต้นทุนแรงงาน
3.4.3คลังสินค้าเหล็กรูปพรรณ ออกแบบมาเพื่อเก็บเหล็กก่อสร้าง ซึ่งพื้นคลังต้องสามารถรับน้ำหนักได้มาก และมีอุปกรณ์เช่น เครน สำหรับยกขนย้าย
3.4.5คลังสินค้าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Warehouse) เน้นการจัดการคำสั่งซื้อจำนวนมากและหลากหลาย เพื่อการจัดส่งที่รวดเร็ว
การเลือกประเภทของคลังสินค้าที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้น ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ขนาดธุรกิจ ปริมาณสินค้า ประเภทสินค้า ความถี่ในการเคลื่อนย้ายสินค้า งบประมาณ และแผนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต